ผู้นำในมุมมองของอิมามโคมัยนี
เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับผู้ปกครองรัฐอิสลามนั้น จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิธีการทางธรรมชาติของระบอบการปกครองรัฐอิสลาม ซึ่งนอกจากเงื่อนไขโดยรวมแล้ว อันได้แก่ สติปัญญาและการบริหารจัดการแล้ว ยังมีอีกสองเงื่อนไขพื้นฐานที่สำคัญ คือ: 1 – มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 2 – ความยุติธรรม
เฉกเช่นหลักจากยุคสมัยของท่านศาสดา(ซล) ซึ่งเกิดความขัดแย้งขึ้นมา กรณีของผู้ที่จะขึ้นมาปกครองรัฐ แต่ทว่าผู้ที่จะต้องขึ้นครองรัฐนั้นจำต้องเป็นบุคคลที่ประเสริฐที่สุด และในเรื่องนี้ในหมู่พี่น้องมุสลิมก็ไม่มีความขัดแย้งใดๆ จะมีก็เพียงสองประเด็นหลักที่สำคัญเท่านั้น คือ 1 - อันเพราะว่า รัฐอิสลามเป็นรัฐแห่งกฎหมาย ดังนั้น ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญและสันทัดในด้านกฎหมาย เหมือนที่ปรากฏในตัวบทฮะดิษ. ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว มิใช่เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองรัฐเท่านั้น แต่ทว่าทุกคน ทุกชนชั้นและทุกสาขาอาชีพ ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ในศาสตร์เหล่านี้. แต่สำหรับผู้ปกครองรัฐแล้วนั้น จะต้องมีความรู้เชี่ยวชาญและสันทัดในศาสตร์อันนี้เป็นพิเศษกว่าบุคคลอื่นใด. บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์(อ) ก็ได้ใช้หลักการเช่นนี้ในการพิสูจน์ถึงการเป็นผู้นำ(อิมาม)ของตน ซึ่งอิมาม(ผู้นำ)จะต้องมีความประเสริฐกว่าบุคคลอื่นๆทั้งหมดในทุกๆเรื่อง. และสิ่งนี้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่อุลามาอฺ และนักปราชญ์ของชีอะห์ นำมาใช้ในการโต้แย้งกับกลุ่มอื่น ว่า เมื่อได้ถามปัญหายังคอลีฟะห์(ผู้นำ)แล้ว หากไม่สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องได้ไซร้ ก็ไม่คู่ควรที่จะเป็นผู้นำและผู้ปกครอง , และสำหรับบุคคลที่ปฏิบัติบทบัญญัติของอิสลามที่ตรงกันข้าม แล้ว เขาก็ยิ่งไม่เหมาะสมและคู่ควรในการเป็นอิมาม ( ผู้นำ ).....
ในมุมมองของอิสลาม ถือว่าผู้เชี่ยวชาญ ผู้สันทัดด้านกฎหมาย และความยุติธรรมนั้นเป็นเงื่อนไขและพื้นฐานหลักที่สำคัญ ส่วนเรื่องอื่นๆนั้น ไม่มีความจำเป็นและเกี่ยวข้องใดๆโดยตรงในเรื่องนี้. อาทิเช่น ความรู้ในเรื่องการสร้างมะลาอิกะห์, ความรู้ในเรื่องซาตของอัลลอฮ์(ซบ)ว่าพระองค์ทรงมีคุณลักษณะประการใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอันใดต่อประเด็นของอิมามัต ระบอบผู้นำ เหมือนกับบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ว่าด้วยธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ที่สามารถค้นคว้าและค้นพบสิ่งใหม่ๆในด้านธรรมชาติ หรือ มีความสามารถและเก่งกาจด้านดนตรี ก็ยังไม่มีความเหมาะสมและคู่ควรในการดำรงตำแหน่งผู้นำ (คิลาฟัต) และหาใช่เป็นคำกล่าวอ้างในความชอบธรรมที่มีเหนือกว่าบรรดาผู้รู้ในด้านกฎหมายอิสลามและผู้ทรงยุติธรรม ในการขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐ.
สิ่งที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์โดยตรงกับคิลาฟัต ( ระบอบผู้นำ ) ซึ่งมีการกล่าวขานทั้งในยุคสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด(ซล) และยุคสมัยของบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ) และเป็นที่ยอมรับในหมู่พี่น้องมุสลิมนั้น คือ ประการแรก ผู้นำและผู้ปกครองรัฐ จะต้องรู้ในหลักการและบทบัญญัติของอิสลาม กล่าวคือ เป็นนักกฎหมาย และประการที่สอง มีความยุติธรรม และเพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะแห่งความสมบูรณ์ทั้งหลักศรัทธาและหลักจริยธรรม ซึ่งหลักสติปัญญาก็ยอมรับในสิ่งนี้ เพราะรัฐบาลอิสลามเป็นรัฐแห่งกฎหมาย หาใช่เป็นรัฐแห่งส่วนบุคคลหรือรัฐแห่งเผด็จการ ( ของบุคคลหนึ่งที่มีอำนาจเหนือประชาชนทั้งมวล ) . หากผู้ปกครองรัฐไม่เข้าใจและไม่รู้กฎหมาย ก็ไม่คู่ควรที่จะเป็นผู้ปกครอง เพราะหากมีการปฏิบัติตาม รัฐก็ต้องล่มสลาย และหากไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่สามรถที่จะปกครองและบริหารด้วยกฎหมายอิสลาม. และสิ่งนี้เป็นเรื่องเอกฉันท์ที่สุด ดังวจนะ ที่ว่า “ อัลฟุกาฮาอฺ ฮุกกามุ อะลัสลาฏียน” หากกษัตริย์ ถือว่าตนปฏิบัติตามอิสลาม ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามบรรดาฟุกาฮาอฺ(นักนิติศาสตร์) และจะต้องมีการถามปัญหาต่างๆจากฟุกาฮาอฺแล้วนำมาใช้ในการบริหาร ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ผู้ปกครองที่แท้จริงก็คือบรรดาฟุกาฮาอฺเหล่านี้แหละ.
ดังนั้นตำแหน่งในการบริหารที่แท้จริงจะต้องตกอยู่ในมือของบรรดาฟุกาฮาอฺเท่านั้น หาใช่บุคคลที่มีความโง่เขลาในด้านกฎหมาย ที่ถูกแกมบังคับให้ปฏิบัติตามฟุกาฮาอฺ. 2 ผู้ปกครองจำต้องมีความเพียบพร้อมสมบูรณ์ไปด้วยหลักความศรัทธา หลักคุณธรรมและหลักจริยธรรม อีกทั้งทรงยุติธรรมและ ห่างไกลจากความผิดบาป. ผู้ที่ต้องการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวคือ การนำกฎหมายอิสลามมาใช้, ถือกองคลัง(บัยตุลมาล) และใช้จัดสรรงบประมาณในการบริหารประเทศชาติ ซึ่งพระองค์อัลลอฮ์(ซบ) ก็ทรงอนุมัติสิทธิๆต่างเหล่านี้ให้เขามีอำนาจในการบริหารจัดการ นั้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่ห่างไกลจากการทำบาปอย่างสิ้นเชิง
لَا يَنَالُ عَهْدِي الظَّالِمِينَ ความว่า “สัญญาของข้านั้นจะไม่ถึงแก่บรรดาผู้อธรรม” ซึ่ง อัลลอฮ์(ซบ)จะไม่ให้สิทธิในลักษณะเช่นนี้แก่ผู้อธรรมอย่างเด็ดขาด . หากผู้ปกครองไม่ทรงยุติธรรม การเลือกปฏิบัติในเรื่องสิทธิของมุสลิม การเก็บภาษี การใช้จ่ายงบประมาณ และการบังคับใช้กฎหมายนั้นจะไม่มีวันได้เห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน.และอาจเป็นไปได้ที่จะใช้อำนาจในการแต่งตั้งวงค์ศาคณาญาติ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่างๆในสังคม และถลุงเงินกองคลังเพื่อใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัวและคามสุขความรื่นเริงให้กับตน.
- การเป็นมัรญีอีญัต หาใช่เป็นเงื่อนไขไม่
ตั้งแต่แรก ตัวผมมีความเชื่อและยืนยันว่า การเป็นมัรญีอีญัต หาใช่เป็นเงื่อนไขไม่ เพียงแค่สภาอุลามาสูงสุดให้การรับรองและยืนยันในการเป็นมุญตะฮิดที่ทรงคุณธรรมก็ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้ว, อีกทั้งเมื่อประชาชนได้ลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาผู้นำ เพื่อทำการจัดหาและเลือกสรร มุจญตะฮิดที่ทรงคุณธรรมขึ้นมาปกครองรัฐ และเมื่อพวกเขาได้เลือกบุคคลหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ในการกำหนด สรรหาและแต่งตั้งผู้นำ ก็ถือว่าผู้นำเป็นที่ยอมรับของประชาชน . ซึ่งกรณีเช่นนี้ ถือว่าเขาคือผู้นำของประเทศและทุกคนจำต้องเชื่อ
ฟังคำบัญชาสั่งของเขา.
- ผู้นำแห่งศาลสถิตยุติธรรม
ในยุคต้นของอิสลาม มีสองสมัยด้วยกัน ที่เกิดรัฐบาลอิสลามอันแท้จริงและอย่างเป็นรูปธรรม คือยุคสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด(ซล) และยุคสมัยของท่านอิมามอะลี(อ)อันมีเมืองกูฟะห์เป็นศูนย์กลางการปกครอง ซึ่งทั้งสองยุคสมัยนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งศักดิ์ศรีอันทรงค่าด้านจริยธรรมและคุณธรรม, กล่าวคือ เป็นรัฐบาลที่ทรงยุติธรรมที่สุด และไม่มีการฝ่าฝืนกฎหมายแม้แต่อณูเดียว. รัฐบาลในช่วงสองยุคสมัยดังกล่าวเป็นรัฐแห่งกฎหมาย และบางที่สามารถกล่าวได้ว่า นอกจากนี้แล้วจะไม่มีรัฐบาลใดที่เป็นรัฐแห่งกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์เช่นนี้อีก(เว้นแต่รัฐบาลของท่านอิมามมะฮ์ดี) เป็นรัฐที่มีผู้ปกครอง “ไม่ว่าเราจะขานเรียกว่า กษัตริย์ หรือประธานาธิบดี” ที่ทรงยุติธรรมที่สุด และจะบังคับใช้กฎโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะเป็นชนชั้นใดก็ตาม ก็จะได้รับสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน , ซึ่งนี่คือความหมายในยุคต้นของอิสลาม แม้กระทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับท่านอิมามอะลี(อ) ในยุคสมัยที่ท่านเป็นผู้ปกครองรัฐ อันมีอำนาจเหนือแผ่นดินฮิญาซ อียิปต์ และอิหร่าน และดินแดนอื่นๆ ซึ่งท่านจะเป็นผู้กำหนดตัวแทนต่างๆ, โดยในเหตุการณ์หนึ่งที่การกล่าวอ้างว่า เกิดการพิพาทระหว่างท่านอิมามอะลี(อ)กับชายคนหนึ่งชาวเยเมน ซึ่งเป็นผลเมืองที่อาศัยอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของท่านอิมามอะลี(อ) และผู้พิพากษา ได้เรียกตัวท่านอิมาม(อ) และเมื่อท่านอิมามได้เข้ามาหา แล้ว ผู้พิพากษาก็แสดงความเคารพและให้เกียรติ์ท่านอิมาม(อ) ซึ่งท่านอิมาม(อ)กล่าวเอ่ยว่า อย่าได้ให้การเคารพผู้ใดในการตัดสินความ, จงปฏิบัติให้เท่าเทียมกันระหว่างฉันกับเขา จากนั้นผู้พิพากษาก็ได้ตัดสินคดีความว่าท่านมีความผิด ซึ่งท่านเองก็ยอมรับในการตัดสิน . และนี้คือรัฐที่บังคับใช้กฎแห่งความเสมอภาคที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน อันเพราะเมื่อกฎหมายอิสลามเป็นกฎหมายแห่งพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ทุกคนก็ต้องยอมสยบ ณ. เบื้องหน้าพระองค์ ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้พิพากษา หรือจำเลย จะเป็นศาสดา
อิมาม หรือประชาชนธรรมดาก็ตามที .
- ผู้นำในท่ามกลางประชาชน
ผู้ปกครองอิสลาม หาใช่เหมือนกับผู้ปกครองอื่นๆเช่นกษัตริย์ หรือประธานาธิบดี แต่ทว่าเป็นผู้ปกครองที่อยู่ในท่ามกลางประชาชน อยู่ในมัสยิดเล็กๆแห่งเมืองมะดีนะห์ และจะคอยรับฟังคำอุทธรณ์และการร้องเรียนต่างๆของประชากร และสำหรับผู้บุคคลที่มีอำนาจบริหารอยู่ในมือ ก็จะเสมอเหมือนกับประชาชนในทุกชนชั้นที่รวมตัวกันในมัสยิด และการรวมตัวของพวกเขาจะอยู่ในรูปลักษณะ ที่ว่า หากมีคนต่างถิ่นเข้ามาเยือน จะไม่รู้ว่าใครคือผู้ปกครองรัฐ ใครคือผู้มีตำแหน่งอันมีเกียรติ์นี้ เพราะเขาจะอยู่ในท่ามกลางประชาชนเยี่ยงประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง เสื้อผ้าที่สวมใส่ ก็จะเป็นชุดเสื้อผ้าที่ประชาชนสวมใส่กัน การพบปะพูดคุยสนทนา ก็เหมือนกับประชาชนทั่วๆไป, และในการบังคับใช้กฎแห่งความยุติธรรม เมื่อมีประชาชนที่มีฐานะต่ำสุดในสังคม มีข้อพิพาทขึ้นกับปกครองรัฐ ณ. เบื้องหน้าศาล เขาก็จะมาตามคำสั่งของศาลเพื่อรับการตัดสินความ.
- วิลายะตุลฟากีห์คือการปฏิเสธอำนาจเผด็จการ
ในอิสลามมีกฎหมายเป็นอำนาจสูงสุด ซึ่งท่านศาสดา(ซล)เอง ก็ต้องปฏิบัติตามกฎอันนี้ คือกฎแห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งไม่สามารถที่จะฝ่าฝืนได้ อัลลอฮ์(ซบ) ทรงตรัสว่า “และหากเขา (มุฮัมมัด) เสกสรรกล่าวคำเท็จบางคำแก่เราแล้ว เราก็จะจับเขาด้วยความมั่นคง แล้วเราก็จะตัดเส้นชีวิตให้ขาดไปจากเขา”
กล่าวคือ หากเจ้ากล่าวในสิ่งหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ข้ากล่าว แน่นอนยิ่งข้าจะลงโทษเจ้า. หากท่านศาสดาเป็นคนจอมเผด็จการ และบุคคลทั่วๆไปเกรงกลัวว่าเมื่ออำนาจได้ตกอยู่ในมือของท่านแล้ว ท่านจะกลายเป็นคนเผด็จการ , หากท่านเป็นจอมเผด็จการ ท่านจะเป็นฟุกาฮาอฺได้กระนั้นหรือ เพราะฟากีห์จะไม่มีอำนาจเผด็จการ ฟากีฮ์ตามแบบอย่างนั้นจะต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม และยุติธรรม และหาใช่ความยุติธรรมด้านสังคมเท่านั้น แต่หมายถึงความยุติธรรม ที่ไม่สามารถกล่าวเท็จได้แม้แต่คำเดียว มิฉะนั้นจะทำให้เขาขาดความยุติธรรมในทันที, การมองยังนามะห์รอม ก็จะทำให้เขาขาดความยุติธรรมในทันที ,ซึ่งมนุษย์เยี่ยงนี้หรือ ที่จะฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ได้.
- อำนาจหน้าที่ของผู้นำในการปกครองรัฐ
หากปรากฏพบสองคุณลักษณะดังนี้ในตัวบุคคลหนึ่งบุคคลใด คือ การลุกขึ้นต่อสู้และการจัดตั้งรัฐ แล้ว
เขาผู้นั้นก็จะมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ เหมือนกับอำนาจของท่านศาสดา(ซล) ซึ่งเป็นหน้าที่ของประชาชนทั้งหมดที่จะต้องอิฏออัตเชื่อฟังเขา , และการคาดคิดว่าอำนาจหน้าที่และสิทธิ์ของท่านศาสดา(ซล) มีมากเหนืออำนาจหน้าที่และสิทธิ์ของท่านอิมามอะลี(อ) , หรือ ท่านอิมามอะลี(อ)มีอำนาจหน้าที่และสิทธิ์มากเหนืออำนาจของบรรดาฟากีห์ แล้ว ถือว่าเป็นความคิดที่เป็นโมฆะและผิดอย่างมหันต์. แต่ทว่าไม่อาจปฏิเสธในความประเสริฐของท่านศาสดาที่มีเหนือทุกสรรพสิ่งได้ และรองลงมาจากท่านก็ คือท่านอิมามอะลี(อ) ดังนั้นความประเสริฐด้านจิตวิญญาณ ไม่อาจมีผลใดๆต่ออำนาจหน้าและสิทธิ์ในการปกครอง , ซึ่งอำนาจหน้าที่และวิลายัตทีท่านศาสดา(ซล) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์พึงมี อันได้แก่การรวบรวมพลพรรค และกองกำลังทหาร, กำหนดแต่งตั้งผู้พิพากษาและผู้ว่าการแคว้น, เก็บภาษีอากรและบริหารจัดการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และอำนาจหน้าและสิทธิ์อันนี้ก็จะคงมีอยู่ในรัฐบาลยุคปัจจุบัน เพียงแค่ไม่ได้กำหนดตัวบุคคลเป็นการเฉพาะเท่านั้นเอง แต่ก็ได้กำหนดบริบทว่าด้วย “อาลิมผู้ทรงคุณธรรม” เป็นที่ตั้ง, เมื่อมีการกล่าวว่า วิลายัตหรืออำนาจหน้าที่ ที่ท่านศาสดาและอิมาม(อ)พึงมี ซึ่งหลังจากยุคสมัยแห่งการเร้นกายของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ) บรรดาฟุกาฮาอฺที่ทรงคุณธรรมและยุติธรรม ก็จะพึงมีเช่นกัน, ซึ่งสิ่งนี้ทุกคนล้วนแล้วอย่าได้คาดคิดว่าฐานันดรของบรรดาฟุกาฮาอฺ มีฐานันดรเหมือนกับท่านศาสดาและบรรดา
อิมามมะอฺศูม(อ) เพราะในที่นี้ไม่ได้พูดคุยในประเด็นของฐานันดร แต่ทว่าเป็นการพูดคุยในประเด็นของ
อำนาจหน้าที่และสิทธิ์เท่านั้น.
วิลายัตคืออำนาจรัฐ การบริหารประเทศชาติและการบังคับใช้กฎหมายแห่งบทบัญญัติอิสลาม ซึ่งถือว่าเป็นภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง และสำคัญอย่างยิ่ง, และหาใช่ว่าเป็นการผลักดันและสร้างตำแหน่งหรือฐานันดรแก่สามัญชนธรรมดา และทำให้เขากลายเป็นคนพิเศษเหนือคนธรรมดาทั่วไป, หรือสามารถกล่าวได้ในอีกความหมายหนึ่งว่า วิลายัต (อำนาจ) ที่เรากำลังถกอยู่ในขณะนี้ คืออำนาจแห่งการปกครองและบังคับใช้กฎหมายแห่งอิสลามอันเป็นหน้าที่ที่หนักอึ้งเป็นอย่างมาก. และหนึ่งในภาระหน้าของฟากีห์ผู้มีอำนาจปกครองรัฐ คือการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม.
การบังคับใช้อำนาจกฎหมายอิสลามในยุคสมัยของท่านศาสดา(ซล) บรรดาอิมามและ ฟากีห์ มีความแตกต่างกันกระนั้นหรือ?? เพราะฟากีห์มีฐานันดรที่ต่ำกว่า จึงมีอำนาจน้อยกว่ากระนั้นหรือ? การลงโทษผู้ทำประเวณีซึ่งต้องถูกเฆี่ยนโบย 100 ครั้งนั้น ในยุคสมัยของท่านศาสดาจะลงโทษเฆี่ยน โบย 150 ครั้ง ยุคสมัยของท่านอิมามอะลี(อ) จะโบย 100 ครั้ง และยุคสมัยฟากีห์ 50 ครั้ง กระนั้นหรือ??? หรือว่าผู้ปกครองที่มีอำนาจตุลาการนั้นจะต้องลงโทษตามกฎของพระองค์, ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นท่านศาสดา
ท่านอิมามอะลี(อ) ตัวแทนของท่านอิมามในเมืองกูฟะห์ บัศรอฮ์ หรือเป็นฟากีห์ประจำยุคสมัยก็ตาม.
อีกหนึ่งภาระหน้าที่ ของท่านศาสดาและอิมามอะลี(อ) คือ เก็บภาษีรายได้ คุมส์ และซะกาต , แล้วในยุคสมัยท่านศาสดา ท่านจะเก็บซะกาต เป็นจำนวนเท่าไหร่หรือ??? ณ. สถานที่แห่งหนึ่งท่านจะเก็บจำนวนสิบเอ็ดดินาร์ และอีกที่หนึ่งท่านจะเก็บยี่สิบดีนาร์ กระนั้นหรือ? และเมื่อท่านอิมามอะลี(อ)เป็นคอลีฟะห์ ท่านจะเก็บซะกาตแบบไหน?? แล้วฟากีห์ผู้มีอำนาจ จะเก็บซะกาตเช่นไร?? ในประเด็นนี้อำนาจและสิทธิ์ของท่านศาสดา กับ อิมามอะลี(อ)และฟุกาฮาอฺมีความแตกต่างกันหรือไม่?? อัลลอฮ์ (ซบ)ทรงกำหนดให้ท่านศาสดาเป็น “วะลี” ผู้มีอำนาจสูงสุดเหนือมวลมุสลิม ตราบเท่าที่ท่านยังคงอยู่ แม้แต่ท่านอิมามอะลี(อ)เอง ก็มีอำนาจวิลายัตอันนี้ ดังนั้นท่านอิมามอะลี(อ)และบรรดาอิมาม(อ)หลังจากท่านก็ทรงมีอำนาจวิลายัตเหล่านี้เหนือพี่น้องมุสลิมทุกคน กล่าวคือ การบัญชาสั่งในการปกครองรัฐของเขาเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม และก็มีอำนาจในคำสั่งแต่งตั้งและปลดตัวแทนได้.เหมือนดังที่ท่านศาสดา(ซล)มีภาระหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและจัดตั้งกองทัพอิสลาม และพระองค์อัลลอฮ์(ซบ)ก็เป็นผู้กำหนดให้ท่านเป็นนายและผู้ปกครองเหนือพี่น้องมุสลิมทุกคนและทุกคนวาญิบที่จะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม และฟุกาฮาอฺ ก็เช่นกันจะต้องเป็นนายและผู้ปกครองและบังคับใช้กฎหมายและให้ระบอบอิสลามสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงสืบไป.
- การปกครองเป็นบทบัญญัติและหลักพื้นฐานเบื้องต้นของอิสลาม
หากอำนาจหน้าที่ของรัฐ มีเฉพาะในกรอบของบทบัญญัติข้อปลีกย่อยของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว สามารถกล่าวได้ว่า รัฐบาลแห่งพระผู้เป็นเจ้าและอำนาจวิลายัตมุฏลัก(เบ็ดเสร็จ)ที่ถูกมอบให้กับท่านศาสดามุฮัมมัด(ซล) นั้น จะกลายเป็นปรากฏการณ์ ที่ไร้ความหมายและไร้สาระอย่างสิ้นเชิง. เพราะการปกครองเป็นหนึ่งในสาขากิ่งก้านของอำนาจวิลายัตมุฏลักของท่านศาสดามุฮัมมัด(ซล) และเป็นหนึ่งในบทบัญญัติ(อะห์กาม)เบื้องต้นของอิสลาม สิ่งมีมาก่อนคำสั่งใดๆในด้านหลักปฏิบัติ แม้แต่ การนมาซ ถือศิลอดและฮัจญ์ ด้วยซ้ำไป. ผู้ปกครองมีอำนาจในการรื้อทำลายมัสยิด หรือบ้านเรือนที่ปลูกสร้างบนทางหลวง และจ่ายค่าเสียหายให้กับจ้าของบ้าน, ผู้ปกครองมีอำนาจในการสั่งปิดมัสยิดในบางกรณี และหากมัสยิดนั้นเป็นภัยต่อสังคม หากไม่สามารถจัดการคลี่คลายปัญหาได้ ก็สามารถที่จะสั่งให้รื้อทำลายได้ในทันที. ผู้ปกครองรัฐมีอำนาจในการยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวตามหลักชะรีอัต หากสัญญาดังกล่าวขัดกับผลประโยชน์ และความมั่นคงของประเทศชาติและอิสลาม อีกทั้งสามารถสั่งยกเลิก และขัดขวางทุกการงานไม่ว่าจะเป็นภาคอิบาดะห์หรือภาคอื่นๆที่ไม่ใช่ภาคอิบาดะห์ เมื่อค้านกับผลประโยชน์ของอิสลาม, ผู้ปกครองรัฐยังสามารถมีอำนาจในการระงับการไป
ประกอบพิธีฮัจญ์เป็นการชั่วคราว เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศชาติและอิสลาม.
- วิลายัตและสิทธิ์ในการถือครองกรรมสิทธิ์
ในอิสลาม ทรัพย์สินที่ถูกต้องตามหลักบทบัญญัติล้วนแล้วมีขอบเขตจำกัด ซึ่งในหนึ่งในหน้าที่ของผู้มีอำนาจวิลายะตุลฟากีห์ อันพึงมี นั้นคือการจำกัดขอบเขตการถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง สิ่งที่เรื่องที่น่าหดหู่อย่างยิ่งการที่บรรดานักคิดหัวใหม่แนวตะวันตก ไม่เข้าใจว่า วิลายะตุลฟากีห์คืออะไร??
แม้นว่าการถือกรรมสิทธิ์เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมตามบทบัญญัติอิสลามที่ได้อนุมัติ แต่ทว่า ผู้ปกครองรัฐก็มีสิทธิ์ในการถือกรรมสิทธิ์ขึ้นมาเมื่อเห็นว่าเป็นภัยและขัดกับผลประโยชน์ของพี่น้องมุสลิมอิสลาม โดยสามารถเข้าไปแทรกแซงในสิทธิ์อันนั้น ด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและออกคำสั่งโดยตรงจากฮุกุมของฟากีห์.